Enterprise Resource Planning คือ แนะนำการบริหารทรัพยากรขององค์กรด้วย ERP

by admin
55 views
Enterprise Resource Planning

ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นผู้บริหารที่กำลังปวดหัวกับการแก้ปัญหาภายใน หรือ มีโครงการสำหรับวางแผนการเติบโตในระยะยาว และกำลังมองหาเครื่องมือที่จะช่วยให้การบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรมีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เครื่องมือที่ชื่อว่า ERP หรือ Enterprise Resource Planning คือ คำตอบของทั้งหมดครับ

ในบทความนี้ Good Material จะมาแนะนำถึงประโยชน์ของ ERP การใช้งาน ข้อดีและข้อควรพิจารณา เพื่อประกอบการตัดสินใจของคุณได้ง่ายและดียิ่งขึ้นครับ

 

ERP : Enterprise Resource Planning คือ

Enterprise Resource Planning คือ ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันทางธุรกิจที่ใช้ในการวางแผนและจัดการห่วงโซ่อุปทานหลักของธุรกิจ ตั้งแต่ การผลิต การจัดซื้อ การเงิน การขาย ฝ่ายบุคคล และกระบวนการอื่นๆทั้งหมดขององค์กร ซอฟต์แวร์ ERP สามารถทำให้กิจกรรมแต่ละอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติและง่ายยิ่งขึ้นในการทำธุรกิจ

ระบบ ERP มีความหลากหลายทั้งในแง่ของการใช้งาน ความครอบคลุม ประสิทธิภาพ แอปพลิเคชันส่วนใหญ่จะให้บริการในรูปแบบของ Software as a service (SaaS) ผู้ใช้สามารถใช้งานผ่านระบบ Cloud ไม่ต้องลงโปรแกรมให้ยุ่งยาก แต่ก็มีอีกประเภทเป็นระบบ ERP ที่ครอบคลุมทั้งระบบขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการกระบวนการทางธุรกิจ ใช้สำหรับสื่อสารภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านฐานข้อมูล (Data Base) ทั้งรูปแบบเซฟเวอร์ และระบบคลาวด์

สรุปง่ายที่สุด ERP คือระบบที่ช่วยรวบรวม ผู้คน กระบวนการ เทคโนโลยี ทั้งหมดขององค์กรไว้ที่แหล่งเดียว

Enterprise Resource Planning

แต่ก่อนจะเล่าถึงประโยชน์และการใช้งาน ผมขอเล่าถึงประวัติของ ERP คร่าวๆก่อนนะครับ

 

ประวัติของ Enterprise Resource Planning (ERP)

คำว่า “Enterprise Resource Planning  (EPR)” ถูกใช้ครั้งแรกโดย Gartner Group ในปี พ.ศ.2533 แต่ซอฟต์แวร์และระบบวางแผนทรัพยากรขององค์กร ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมานานกว่า 100 ปีและยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และนี่คือไทม์ไลน์ของวิวัฒนาการเหล่านัั้น :

  • พ.ศ. 2456 (1913) : แบบจำลองที่ชื่อว่า Economic Order Quantity (EOQ) ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยวิศวกรหนุ่มนามว่าFord Whitman Harris ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่ใช้กระดาษสำหรับการจัดตารางการผลิต
  • พ.ศ. 2507 (1964) : มีบุคคล 2 คนชื่อ Toolmaker Black และ Decker ได้นำโซลูชั่นวางแผนการผลิต Material Requirements Planning (MRP) เวอร์ชั่นแรก ร่วมกับ EOQ เข้ากับระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรม
  • ทศวรรษ 1970-1980 : เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก และซอฟต์แวร์สำหรับจัดการธุรกิจที่อยู่นอกการผลิตได้เกิดขึ้น ตั้งแต่ซอฟต์แวร์สำหรับ ระบบการเงิน ทรัพยากรบุคคล และการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM)
  • พ.ศ. 2526 (1983) : Material Requirements Planning (MRP) เวอร์ชั่น II ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยถูกพัฒนาข้อมูลส่วนของ ส่วนประกอบสำหรับการผลิตหลัก ร่วมกับระบบข้อมูลที่ใช้ทั่วไป
  • พ.ศ.2533 – 2543  (1990-2000) : บริษัท Gartner Group ได้บัญญัติศัพท์ของตัวเองขึ้นมาว่า Enterprise Resource Planning  (EPR) เพื่อสร้างความแตกต่างจากระบบ MRP ที่มีอยู่เดิม ระบบ ERP ได้ขยายตัวเพื่อครอบคลุมระบบธุรกิจอัจฉริยะตั้งแต่ ระบบอัตโนมัติของฝ่ายขาย (SFA) ระบบอัตโนมัติทางการตลาด และอีคอมเมิร์ซ
  • วันนี้ : ระบบ ERP อยู่ในรูปแบบของ Software-as-a-Service (SaaS) ทุกบริษัทสามารถเข้าถึงระบบ ERP ได้จากทั้งบนเว็บหรือ แอปพลิเคชันจากระยะไกล ด้วยการพัฒนาของระบบคลาวด์ที่ช่วยทั้งเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และการผสานเข้าร่วมกับเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมในระบบอัจฉริยะ รวมถึง Internet of Things (IoT) และ Industrial Internet of Things ซึ่งช่วยให้ธุรกิจของคุณเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

 

ทำไม ERP ถึงสำคัญต่อธุรกิจ

Enterprise Resource Planning  (ERP) เป็นเครื่องมือทรงพลังสำหรับธุรกิจที่ต้องการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ซอฟต์แวร์เหล่านี้ช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การเงิน หรือสร้างกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยให้คุณประหยัดเงินโดยยังคงไว้ซึ่งคุณภาพและประสิทธิภาพ

ERP ยังเป็นสินทรัพย์สำหรับการวางแผนและการประสานงาน พนักงานสามารถดูสินค้าคงคลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน และคำสั่งซื้อของลูกค้าโดยละเอียด หลังจากนั้นสามารถนำมาเปรียบเทียบกับคำสั่งซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ และคาดการณ์ความต้องการสินค้าแต่ละชนิดในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยในการลดจำนวนสินค้าคงคลังลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับกระบวนการผลิตแบบ  Toyota Production System (TPS) และ Lean Manufacturing เครื่องมือ ERP เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการผลิตแบบ JIT (Just in Time) ประสบความสำเร็จ

บทความที่เกี่ยวข้อง : lean คือ ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ lean manufacturing ในกระบวนการผลิต

Oracle-Dashborad-ERP

ตัวอย่างหน้า Dashboard ของ Oracle ERP รูปภาพจาก oracle.com

เมื่อไหร่ที่ธุรกิจของคุณควรใช้ระบบ ERP

การทำธุรกิจมักมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายด้านการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในระยะสั้นหรือระยะยาว สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจระยะยาว ระหว่างทางบริษัทอาจมีความท้าทายที่เข้ามากระทบ การใช้เครื่องมืออย่าง Enterprise Resource Planning  (EPR) มาช่วยวิเคราะห์และบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และนี่คือช่วงเวลาที่บริษัทส่วนใหญ่มักพิจารณาใช้ระบบ ERP :

  • ช่วงเวลาของการเติบโต : ช่วงเวลาที่องค์กรกำลังเติบโตหรือกำลังวางแผนที่จะเติบโต
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงาน : องค์กรต้องการเครื่องมือหรือซอฟต์แวร์เพื่อจัดการกระบวนการต่างๆให้ดีขึ้น
  • การควบรวมหรือซื้อกิจการ : สำหรับกรณีควบรวมกิจการ มักเป็นลักษณะของบริษัทแม่ต้องการปรับปรุงระบบภายในบริษัทที่ถูกซื้อ
  • ปรับปรุงระบบเดิม : ในกรณีที่ระบปัจจุบันขององค์กรล้าสมัย ไม่สามารถอัพเดทได้ หรือไม่สามารถให้บริการแก่ธุรกิจและผู้ใช้ได้อย่างเพียงพออีกต่อไป
  • แผนงานเชิงกลยุทธ์ : ผู้บริหารมีความคิดก้าวหน้าและได้กำหนดแผนงานด้านเทคโนโลยีทางธุรกิจรวมถึงโซลูชั่นใหม่สำหรับองค์กร

การระบุกระบวนการที่สูญเปล่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโต และนี่คือปัจจัยบางประการที่อาจส่งสัญญาณว่ากระบวนการในปัจจุบันของคุณไม่สนับสนุนการเติบโตขององค์กร

  • บริษัทพึ่งพาหรือใช้งานระบบฐานข้อมูลบน Spreadsheets หรือ โปรแกรม ที่แยกออกจากกัน ซึ่งต้องใช้คนในการจัดการข้อมูลแบบแมนนวล ข้อมูลไม่สามารถซิงค์กันได้อัตโนมัติ
  • ข้อมูลและการวิเคราะห์เข้าถึงยาก และล้าสมัย
  • กระบวนการแต่ละอย่างมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน เช่น การลงบัญชีในสมุดบัญชี (กระดาษ) ซึ่งยากต่อการทบทวนสถานะทางการเงินของบริษัท
  • กระบวนการขาย และการตลาดแยกออกจากกัน ทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าย่ำแย่ เนื่องจากปัญหาข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร
  • ระบบปัจจุบันไม่รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น IoT และ AI

 

การทำงานของระบบ ERP

การวางแผนทรัพยากรขององค์กร โดยส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลจากส่วนกลางเพื่อบริหารจัดการกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ เพื่อลดการใช้แรงงานคนและลดความซับซ้อนของขั้นตอนการทำงาน ในส่วนนี้ระบบ ERP จะมีหน้าแดชบอร์ดที่ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลเรียลไทม์ที่รวบรวมจากทั่วทั้งธุรกิจ เพื่อวัดประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไร

เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างหนึ่งใน ERP Modules นั่นคือ การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) โดยขั้นตอนการบริหารจัดการข้อมูลจะเริ่มด้วย

  1. ระบบ ERP ของคุณได้รับข้อมูลคำสั่งซื้อจากลูกค้า
  2. ข้อมูลถูกส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าที่อยู่ในตำแแหน่งที่ใกล้ หรือมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อดำเนินการสั่งซื้อ
  3. ข้อมูลคำสั่งซื้อเสร็จสิ้น ข้อมูลจะถูกอัพเดทผลปริมาณสินค้าคงค้างในสต็อค
  4. หากมีการคืนสินค้า สินค้าจะถูกส่งมายังศูนย์กระจายที่ใกล้ที่สุด และอัพเดทผลเข้าสู่ระบบ ERP เพื่อรายงานสถานะ

หากไม่มีระบบ ERP ข้อมูลมักจะถูกแยกตามแผนกและอาจจะเข้าถึงได้ยากภายในบริษัท ด้วยการใช้ ERP นี้ข้อมูลจากหลายแผนกจะสามารถแชร์และแสดงภาพได้อย่างง่ายดายและทั่วทั้งองค์กร โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลมากขึ้น การทำให้ข้อมูลเข้าใจง่ายจะช่วยให้เห็นถึงปัญหาหรือจุดอ่อนของธุรกิจได้ง่ายขึ้น จึงสามารถพัฒนาระบบรวมถึงต่อยอดเป้าหมายทางธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้น ลดเวลาการทำงานของพนักงานด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทน

มูลค่าทางธุรกิจที่จะได้รับ

โปรแกรมสำหรับวางแผนทรัพยากรขององค์กรมีข้อดีมากมาย เมื่อพูดถึงมูลค่าที่ธุรกิจจะได้รับหลังใช้ระบบ ERP และนี่คือส่วนหนึ่งของประโยชน์เหล่านั้น

  • การมองเห็นภาพรวมขององค์กร
  • ช่วยในการปรับปรุงรายงาน และการวางแผน
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการลูกค้า
  • ต้นทุนไอทีที่รวมไว้จุดเดียว
  • ปรับปรุงการจัดการซัพพลายเชน
  • ความปลอดภัยของข้อมูล
  • สร้างกระบวนการทางธุรกิจที่เป็นมาตรฐาน

 

Enterprise Resource Planning เหมาะสำหรับใคร

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ต่างก็ใช้ ERP เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน หรือแก้ปัญหาทรัพยากรขององค์กร นอกจากนี้ยังใช้แยกตามประเภทของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยธุรกิจที่มักนำไปใช้ ได้แก่

  • Retail : ค้าปลีก
  • Manufacturing : อุตสาหกรรมการผลิต
  • Pharmaceutical : เภสัชกรรม
  • Distribution : ธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้า
  • Technology : บริษัทเทคโนโลยี
  • Hospitality : ธุรกิจโรงพยาบาล
  • Construction : ธุรกิจก่อสร้าง

ซอฟต์แวร์ของระบบ ERP สามารถปรับแต่งหรือกำหนดตามความต้องการเฉพาะของอุตสาหกรรมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ โดยแยกเป็น Modules ตัวอย่างเช่น

  • Material requirements planning (MRP) : สำหรับการผลิต
  • Inventory Management : สำหรับการบริหารสินค้าคงคลัง
  • Supply Chain Management : สำหรับการบริหารจัดการซัพพลายเชน
  • Customer Relationship Management : สำหรับการจัดการลูกค้าสัมพันธ์
  • Human Resources Management : สำหรับจัดการทรัพยากรบุคคล

 

วิธีการเลือกระบบ ERP

การเลือกและปรับใช้ระบบ ERP อาจเป็นงานที่ดูสับสน เนื่องจากมีโซลูชั่นของซอฟต์แวร์มากมายให้เลือกใช้ เมื่อคุณเลือกระบบ ERP สิ่งสำคัญคือ คุณต้องทำการบ้านพิจารณาว่าแท้จริงแล้ว บริษัทของคุณมีความต้องการหรือมีเป้าหมายอะไร และบริษัทต้องการเครื่องมือหรือระบบใดเข้ามาสนับสนุนบ้าง

ตัวอย่างหัวข้อที่ควรพิจารณาเมื่อต้องเลือกระบบ ERP

  • ระบบที่พิจารณา ตรงตามความต้องการของระบบงานภายในหรือไม่
  • ระบบที่พิจารณา สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทหรือไม่
  • ระบบสามารถบูรณาการเข้ากับระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่
  • มีทีมงาน หรือ ตัวแทนคอยช่วยเหลือติดตั้งหรือไม่
  • มีข้อเสนอในการฝึกอบรม หรือ สนับสนุนด้านข้อมูลหรือไม่
  • มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพื่อให้คุณได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการแข่งขัน

แนะนำระบบ ERP 

บริษัทผู้พัฒนาระบบ ERP มีมากมาย ผมขอเสนอบริษัทที่พัฒนา ERP ออกมาขายแยกตามประเภทของขนาดองค์กร เพื่อความสะดวกในการพิจารณาครับ

องค์กรขนาดใหญ่

องค์กรขนาดกลาง

องค์กรขนาดกลางถึงเล็ก

สรุป

EPR : Enterprise Resource Planning  คือ โซลูชั่นสำหรับธุรกิจที่ใช้งานได้หลากหลายและใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในหลายองค์กรใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการทางธุรกิจ ช่วงเริ่มต้นคุณอาจจะต้องทำการบ้านมากหน่อย เพื่อค้นหาความต้องการจากภายในองค์กรคู่กับการหาซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์ เมื่อทั้งสองมาบรรจบกันแล้ว ระบบ ERP จะช่วยให้ธุรกิจของคุณมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ

 

 

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • ข้อมูลอ้างอิง : 1 / 2 / 3 / 4 / 5/ 6

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Copyright © 2024 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material.asia