นวัตกรรมคืออะไร? ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับความสำคัญของนวัตกรรม

by admin
171 views
นวัตกรรมคือ

คำว่า “นวัตกรรม” ได้กลายเป็นคำศัพท์ที่มีการใช้งานที่กว้างและคลุมเครือ มีคำจำกัดความจากหลายแหล่งที่มา จนบางทีก็เริ่มสับสนว่า นวัตกรรม คืออะไร หมายถึงสิ่งใดบ้างหรืออะไรที่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมบ้าง แต่นวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเหมือนหนึ่งความสามารถเพื่อการแข่งขันในระยะยาวของธุรกิจต่างๆ จึงเป็นเหตุผลให้ Goodmaterial เรียบเรียงบทความนี้ขึ้นมาครับ

นวัตกรรม คือ

นวัตกรรม คือ 

คำว่า “นวัตกรรม” มาจากคำกริยาภาษาละติน innovare ซึ่งหมายถึงการต่ออายุ นวัตกรรม คือ การปรับปรุงหรือทดแทนบางสิ่งบางอย่าง เช่น กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ เป็นกระบวนการที่ทำให้บางสิ่งบางอย่างได้รับการต่ออายุหรือทำให้ทันสมัย โดยใช้กระบวนการใหม่ การแนะนำเทคนิคใหม่ หรือการสร้างแนวคิดที่ประสบความสำเร็จเพื่อสร้างมูลค่าใหม่ขึ้นมา อย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่าคำว่า นวัตกรรม มีคำจำกัดความจากหลายแหล่งที่มา เราจึงขอยกคำจำกัดความจากบุคคลที่มีชื่อเสียงบางท่านมาประกอบ ดังนี้

  • ปีเตอร์ เฟอร์ดินานด์ ดรักเกอร์ (Peter Ferdinand Drucker) นักคิดแนวคิดด้านการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ กล่าวว่า “นวัตกรรมเป็นเครื่องมือเฉพาะของผู้ประกอบการ… การจัดการทรัพยากรด้วยความสามารถใหม่เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” เป็นแนวคิดในการมอบทรัพยากรจากความสามารถใหม่ ๆเพื่อสร้างมูลค่าให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งขึ้น
  • สก็อตต์ เบอร์คัน (Scott Berkun) นักเขียนและนักพูดชาวอเมริกัน “นวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่สำคัญ” แต่คำจำกัดความนี้เน้นที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ หากคุณยังไม่รู้หรือยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นการยากที่จะนำคำจำกัดความนี้ไปใช้
  • ทิม แคสเทลล์ (Tim Kastelle) ผู้ให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรม “นวัตกรรมไม่ใช่แค่มีความคิด แต่เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างมูลค่า” เป็นการให้คำจำกัดความโดยรวมเอาแนวคิดหลัก ๆสามอย่างคือ ความคิด การดำเนินการ และการสร้างมูลค่า

นวัตกรรม เป็นกระบวนการที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์และความเต็มใจที่จะเสี่ยงกว่าการดำเนินโครงการแบบทั่วไป เพื่อให้โครงการนวัตกรรมนั้นประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องมีกรอบความคิดที่แตกต่างออกไป เพราะหากคุณทำด้วยวิธีการแบบเดิมๆ มันมักจะไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมใด ๆได้เลย

Mindset

Mindset ที่ควรมีสำหรับการคิดโครงการ นวัตกรรม คือ

  • การคิดนอกกรอบ
  • หาไอเดียจากสิ่งรอบตัวได้ทุกที่ ทุกเวลา
  • เชื่อในความเป็นไปได้
  • รวมทีมที่มีมุมมองและรูปแบบการคิดที่แตกต่างกัน

อาจลองตั้งคำถามถึงสิ่งนั้นว่าเป็น นวัตกรรม หรือไม่ดังนี้ 

  • แนวคิดมีความแปลกใหม่หรือไม่? ถ้าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่จริง ๆ ก็น่าจะเป็นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าเป็นนวัตกรรม
  • มันแก้ปัญหาได้จริง ๆหรือไม่? ถ้าไม่อย่างนั้นอาจเป็นเพียงศิลปะมากกว่าเป็นนวัตกรรม แต่เราไม่ได้หมายความว่าศิลปะไม่มีค่า แต่โดยทั่วไปศิลปะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการแก้ปัญหาโดยเฉพาะ
  • มันสร้างมูลค่าจริง ๆหรือไม่? ถ้าไม่อย่างนั้นอาจเป็นการประดิษฐ์มากกว่าเป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์สามารถนำไปสู่การสร้างมูลค่าได้ แต่โดยทั่วไปแล้วมูลค่าจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะมีคนนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ผ่านนวัตกรรม

 

4 องค์ประกอบของกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม

บริษัทที่มีนวัตกรรมอย่างแท้จริง มักสร้างวัฒนธรรมของนวัตกรรมที่ทำซ้ำได้โดยมีกระบวนการนวัตกรรมที่เข้มงวด การจะปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมให้กับคนในองค์กร คุณต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยเวลา ทรัพยากร และความพยายามในการวางกระบวนการนั้น แต่ถ้าทำได้คุณก็สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างคู่แข่งได้ ต่อไปนี้คือ 4 องค์ประกอบสำคัญบางประการที่เราเห็นว่าจำเป็นต่อ กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ดังนี้ 

1.ผู้นำเข้าไปมีส่วนร่วม

ความเป็นผู้นำของผู้บริหารไม่ควรมุ่งมั่นอยู่แต่กับเนื้อหาหรือรายละเอียดของกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพียงอย่างเดียว คุณควรมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปเป็นผู้เข้าร่วมในกระบวนการนั้นด้วย เพราะพนักงานจะมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าแนวคิดของพวกเขาจะถูกนำไปใช้จริง หากมีบุคคลระดับสูงเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นด้วย 

 

2.สร้างทีมนวัตกรรมข้ามสายงาน

ความหลากหลายควรเป็นองค์ประกอบสำคัญของทีม เป็นความหลากหลายทั้งในด้านความเชี่ยวชาญและบทบาทภายในองค์กร เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายและนวัตกรรม นักวิจัยพบว่าองค์กรที่มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายนั้น มักมีนวัตกรรมและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆที่มากขึ้น อีกทั้งหลายองค์กรก็ประสบความสำเร็จในการสร้างทีมนวัตกรรมที่มีขนาดเล็กลงและเป็นทางการน้อยลง สำหรับทำโครงการเฉพาะหรือในการดำเนินงานนวัตกรรมที่ต่อเนื่องของบริษัท

 

3.การทำซ้ำในกระบวนการสร้างนวัตกรรม

วิธีการทำซ้ำส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อไทม์ไลน์ของนวัตกรรม Liberty Global บริษัทด้านโทรคมนาคมดำเนินการแคมเปญเกี่ยวกับนวัตกรรม 4 สัปดาห์ แต่บริษัทก็ตระหนักดีว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น “ความคิดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติได้ทันที” ถือเป็นการเน้นย้ำว่ากระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมต้องอาศัยเวลาเป็นปัจจัยสำคัญ บางครั้งอาจใช้เวลาหลายปีเพื่อถกเถียงถึงกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่ก็สามารถทำและบรรลุผลต่อจากนั้นได้ภายในหนึ่งสัปดาห์

 

4.ต้องให้ลูกค้ามาก่อนเสมอ

การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นกระบวนการคิดสำหรับการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์โดยมีลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการ ซึ่งทำงานได้ดีกับกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ควรนำเสนอคุณค่าที่องค์กรมีต่อลูกค้าของคุณ ตัวอย่างเช่น SAP หนึ่งในองค์กรด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ใช้หลักการคิดเชิงออกแบบและมุ่งเน้นที่ลูกค้าในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่ง SAP มีนวัตกรรมอีกหลายอย่างที่สร้างขึ้นโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังของการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง : Design Thinking คือ แนะนำหลัก การคิดเชิงออกแบบ

 

“นวัตกรรมไม่ใช่เรื่องไร้สาระที่กำลังจะเกิดขึ้น คุณต้องใช้ความคิด กำลังคน และทรัพยากรจำนวนมากในการสร้างสรรค์นวัตกรรม” – Sarah Kelly ผู้จัดการโครงการนวัตกรรมของบริษัทสื่อสาร Liberty Global

 

ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน?

เริ่มต้นด้วยการถามคำถามที่เหมาะสม เพราะทางออกที่สร้างสรรค์ต้องเริ่มต้นด้วยวิธีการกำหนดปัญหา

หากมีเวลาหนึ่งชั่วโมงในการแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิต เขาจะใช้เวลา 55 นาทีแรกกำหนดคำถามที่เหมาะสมกับปัญหา และคิดวิธีแก้ปัญหาเพียง 5 นาที  – Einstein

การถามถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการเติมพลังความคิดสร้างสรรค์นั้น ทีน่า ซีลิก (Tina Seelig) ได้เสนอทฤษฎีซึ่งสรุปไว้ใน Innovation Engine โดยแสดงให้เห็น 3 ปัจจัยภายใน และ 3 ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ดังนี้

3 ปัจจัยภายใน :

  • ความรู้  Seelig เรียกความรู้หรือสิ่งที่คุณรู้ว่า กล่องเครื่องมือ ยิ่งความรู้ของคุณมีความลึกซึ้งมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีโอกาสนำเสนอแง่มุมใหม่ ๆได้มากขึ้นเท่านั้น
  • จินตนาการ – เป็นวิธีที่คุณนำความคิดมาเชื่อมต่อและรวมเข้าด้วยกัน คนส่วนใหญ่มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของจิ๊กซอร์ พวกเขาทำงานตามที่กำหนดและเป็นส่วนหนึ่งของงานทั้งหมด แต่นักประดิษฐ์มองว่าตัวเองเป็นนักผสมผสานที่รวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์งานออกมา
  • ทัศนคติ – การเปลี่ยนจากความคิดหรือไอเดียให้เป็นเรื่องจริงนั้น เป็นกระบวนการที่ไม่ค่อยจะราบรื่นนักและต้องใช้แรงผลักดันแรงจูงใจเป็นอย่างมากอีกด้วย 

3 ปัจจัยภายนอก :

  • ทรัพยากร – สิ่งที่ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ทรัพยากรก็ควรได้รับการพิจารณาอย่างกว้าง ๆด้วย ทรัพยากรยังรวมถึงเรื่องของเวลา ผู้คน ฯลฯ
  • สถานที่ทำงาน – ที่ที่คุณทำงานส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ หรือเอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ (ทำให้สมองแล่น)
  • วัฒนธรรม – วัฒนธรรมบริษัทไปจนถึงสิ่งที่พวกเขาผลิตขึ้น ส่งผลต่อความรู้สึกในการทำงานของพนักงานด้วย 

แบบจำลองของ Seelig นี้อาจดูเป็นนามธรรม แต่ก็เป็นแนวทางไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นได้ บุคคลสามารถเริ่มพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้โดยการปรับทัศนคติ พวกเขาสามารถพัฒนาความรู้ ปล่อยให้ตัวเองได้มีความฝัน และพยายามวางตัวเองในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อความคิดสร้างสรรค์ โดยอาจเลือกทำงานกับบริษัทที่ให้ความสำคัญสูงกับนวัตกรรม

ดังนั้น ผู้นำที่ต้องการส่งเสริมนวัตกรรมก็ควรสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมด้วย ไม่ควรมีกฎเกณฑ์ที่ทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัด ส่งเสริมความคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างบุคคล ทีม และโครงการที่จะเติมพลังความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงการรื้อห้องเล็ก ๆ และตกแต่งสถานที่ทำงาน ทาสีผนังด้วยสีสดใสก็เป็นไอเดียที่ไม่เลว

 

ตัวอย่าง นักประดิษฐ์ นักนวัตกรรม ที่มีชื่อเสียง

  • Steve Jobs เริ่มพัฒนาโลกของสมาร์ทโฟนด้วย iPad
  • Marie Curie ได้ทำการวิจัยที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี
  • Elon Musk กับความก้าวหน้าด้านรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์หรูหรา
  • Ann Kiessling ค้นพบสิ่งต่าง ๆมากมายทางด้านชีววิทยา
  • Nikola Tesla ทำงานเกี่ยวกับการผลิต การส่ง และการใช้พลังงานไฟฟ้า
  • Amanda Jones เป็นผู้คิดค้นวิธีการบรรจุกระป๋องแบบสุญญากาศ
  • Thomas Edison ผู้คิดค้นหลอดไฟฟ้าแบบหลอดไส้
  • Grace Hopper ได้คิดค้นคอมไพเลอร์หรือตัวแปลภาษาตัวแรกสำหรับภาษาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • Leonardo DaVinci ผู้คิดค้นร่มชูชีพ
  • Josephine Cochrane คิดค้นเครื่องล้างจานอัตโนมัติเครื่องแรก
  • Alexander Graham Bell คิดค้นโทรศัพท์เครื่องแรก

สรุป

องค์กรมีหลายทางเลือกในการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน พวกเขาสามารถต่อสู้เพื่อความเป็นผู้นำด้านราคาและพัฒนากลยุทธ์เพื่อสร้างความแตกต่าง ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ทำให้นวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในตลาดใหม่ ๆ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ

 

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • ข้อมูลอ้างอิง : 1 / 2 / 3 / 4

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Copyright © 2024 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material.asia