Design Thinking คือ แนะนำหลัก การคิดเชิงออกแบบ

by admin
229 views
Design Thinking คือ

Design Thinking ไม่ใช่คุณสมบัติเฉพาะตัวของนักออกแบบหรือนักสร้างสรรค์เพียงเท่านั้น แต่จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องที่สามารถฝึกฝนกันได้กับทุกคนและทุกสาขาอาชีพ ซึ่งการฝึกให้มี กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นเทคนิคหนึ่งซึ่งช่วยให้คุณมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์ และนี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บุคคลหรือองค์กรกำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง Design Thinking กันมากขึ้น 

 

Design Thinking คือ

ภาษาไทยอาจเรียกว่า การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking คือ กระบวนการคิดสำหรับการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ช่วยในกระบวนการตั้งคำถามกับปัญหา ตั้งคำถามกับสมมติฐาน และตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบ โดยการจัดกรอบปัญหาใหม่ด้วยวิธีที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เป็นกระบวนการคิดที่องค์กรควรให้ความสำคัญ เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าหรือบริการและกระบวนการดำเนินการภายในองค์กรที่ดีขึ้นได้

ในการใช้แนวคิด Design Thinking เป็นการดึงเอาความสนใจหรือความต้องการของมนุษย์ (Desirability) มารวมกับความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ โดยกระบวนการจะเริ่มต้นด้วยการลงมือทำและทำความเข้าใจกับคำถามต่างๆให้ถูกต้องก่อน เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดง่ายๆและจัดการปัญหาในทิศทางใหม่

Design Thinking คือ

 

Design Thinking สามารถช่วยทีมหรือองค์กรของคุณ ดังนี้

  • เข้าใจความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของลูกค้าหรือผู้บริโภค
  • ลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการเปิดตัวแนวคิด ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ ๆ
  • สร้างทางออกใหม่ๆที่อาจปฏิวัติวงการนั้นได้
  • เรียนรู้และทำซ้ำได้เร็วขึ้น

 

การคิดนอกกรอบ

Design Thinking จึงมักถูกเรียกว่าการคิดแบบ “นอกกรอบ” เนื่องจากนักออกแบบความคิดจะพยายามพัฒนาวิธีคิดใหม่ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆหรือแบบทั่วๆไป หัวใจสำคัญของการคิดเชิงออกแบบ คือ ความสามารถในการถามคำถามที่สำคัญ และสมมติฐานที่ท้าทาย

ดังนั้น องค์ประกอบหนึ่งของการคิดนอกกรอบคือ การตั้งสมมติฐานก่อนหน้านี้ขึ้นมาและทำการพิสูจน์ว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ จากนั้นกระบวนการสร้างทางออกจะช่วยให้เราสร้างแนวคิดที่สะท้อนถึงข้อเท็จจริงของปัญหานั้นๆ

 

ขั้นตอน การคิดเชิงออกแบบ

กระบวนการคิดเชิงออกแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบล้วนมีหลักการเดียวกัน Goodmaterial ขอยกของสถาบันการออกแบบ Hasso-Plattner ของสแตนฟอร์ดหรือที่เรียกว่า d.school เนื่องจากเป็นแนวทางระดับแนวหน้าในการประยุกต์ใช้และการสอนเรื่อง Design Thinking มี 5 ขั้นตอน ดังนี้

*ขั้นตอนเหล่านี้บางขั้นตอนอาจเกิดขึ้นได้หลายครั้ง (เกิดการทำซ้ำได้) และคุณสามารถข้ามทำไปมาระหว่างขั้นตอนเหล่านี้ได้

  1. Empathize เอาใจใส่ ผู้ใช้หรือลูกค้าของคุณถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ
  2. Define กำหนด ความต้องการของผู้ใช้หรือลูกค้า ปัญหา และข้อมูลเชิงลึก หรือการระบุคำถามที่เป็นแรงบันดาลใจให้ค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์
  3. Ideate ออกแบบ โดยการตั้งสมมติฐานที่ท้าทาย และสร้างแนวคิดใหม่ๆสำหรับการแก้ปัญหา
  4. Prototypeต้นแบบ เพื่อเป็นการเริ่มสร้างโซลูชันหรือทางออกของปัญหา
  5. Test ทดสอบ แนวทางแก้ไขปัญหา เป็นการทดสอบเพื่อเรียนรู้และปรับแต่งแนวคิดและทดลองซ้ำ

 

Design Thinking Process

 

1.Empathize เอาใจใส่

เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการออกแบบความคิด เป็นกระบวนการที่ใช้ทำความรู้จักกับผู้ใช้หรือลูกค้า โดยการทำความเข้าใจกับความต้องการ และวัตถุประสงค์ไปถึงระดับจิตใจและอารมณ์ของพวกเขา จากวิธีการสังเกตและการมีส่วนร่วม ให้พยายามตั้งสมมติฐานและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่แท้จริง เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเอาใจใส่พวกเขาจากในกระบวนการนี้

 

2.Define กำหนด

กระบวนการนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการกำหนดปัญหา โดยการรวบรวมข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจากกระบวนการเอาใจใส่ข้างต้น และเริ่มทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้น เช่น พวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง? ในรูปแบบใด? ทีมคุณหรือองค์กรของคุณต้องแก้ไขอะไรบ้าง? จากนั้นคุณจะได้รายละเอียดปัญหาที่ชัดเจนขึ้น กุญแจสำคัญในกระบวนการนี้ คือ การกำหนดปัญหาโดยยึดผู้ใช้หรือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

 

3.Ideate ออกแบบ

สิ่งสำคัญของกระบวนการนี้คือ จะต้องชี้ให้เห็นว่าเป็นกระบวนการที่ไม่มีการมาตัดสินว่าความคิดใดถูกหรือผิด ต้องเป็นพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ อาจทำเป็นการระดมความคิด ทำแผนที่ความคิด ไปจนถึงการจำลองสถานการณ์ขึ้นมา (Roleplay) ซึ่งผู้เข้าร่วมออกแบบความคิด จะได้รับการสนับสนุนให้มุ่งเน้นไปที่ปริมาณของความคิดมากกว่าคุณภาพ ช่วยกันคิดและไม่ตัดสินกันแต่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ด้วย เพราะกระบวนการนี้มุ่งเน้นไปที่แนวคิดและวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆที่เป็นไปได้ให้มากที่สุด

 

4.Prototype ต้นแบบ

เปลี่ยนแนวคิดให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้โดยการทำต้นแบบคร่าวๆขึ้นมา กระบวนการนี้เป็นกุญแจสำคัญในการทดสอบแต่ละวิธีแก้ปัญหา เพื่อดูข้อจำกัดหรือข้อบกพร่องใดๆที่อาจเกิดขึ้น ตลอดกระบวนการนี้บางวิธีแก้ปัญหาอาจได้รับการยอมรับ ปรับปรุง หรือถูกปฏิเสธไป การคิดเชิงออกแบบ เป็นกระบวนการคิดที่อาจมีการทำซ้ำได้ ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาหรือทางออกใดที่ยังบกพร่องต้องปรับปรุง อาจต้องกลับไปทำซ้ำในบางกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งอีกครั้ง

 

5.Test ทดสอบ

หลังจากการสร้างต้นแบบมาถึงการทดสอบผู้ใช้ กระบวนการนี้ไม่ใช่กระบวนการสุดท้ายเสมอไป ในความเป็นจริงผลลัพธ์ของกระบวนการทดสอบนี้ อาจนำคุณกลับไปสู่กระบวนการก่อนหน้าโดยจะให้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นที่คุณต้องการ เพื่อให้คุณไปกำหนดปัญหาเดิมนั้นขึ้นมาใหม่ หรือเพื่อคิดแนวคิดใหม่ที่คุณอาจไม่เคยได้คิดมาก่อน

 

Design Thinking มีประโยชน์อย่างไรในที่ทำงาน?

การนำ Design Thinking มารวมเข้ากับกระบวนการทำงานของคุณ สามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังมั่นใจได้ว่าสินค้าหรือบริการที่คุณออกแบบไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องการสำหรับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในแง่ของงบประมาณและทรัพยากรขององค์กร ดังนี้

สามารถศึกษาเพิ่มเติมบทความเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภายในองค์กร :

  • กิจกรรม 5ส คือ ทุกเรื่องควรรู้ในการใช้งาน 5S เพื่อเพิ่มประสิทธิผลองค์กร
  • Kaizen คือ ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ ไคเซ็น การใช้งาน หลักการ และประโยชน์

1.ประหยัดเวลา

ด้วยการที่ Design Thinking จะเน้นไปที่การแก้ปัญหาและการค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ และมีระบบในกระบวนการคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน จึงสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการออกแบบหรือพัฒนาสินค้าและบริการได้เป็นอย่างมาก

2.ประหยัดค่าใช้จ่าย

เมื่อสามารถนำสินค้าหรือบริการที่พร้อมออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น เท่ากับเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรได้นั่นเอง การคิดเชิงออกแบบได้รับการพิสูจน์แล้วว่าให้ผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ บางองค์กรได้คำนวณค่า ROI สูงถึง 300% (ROI คือ อัตราส่วนของกำไรสุทธิกับค่าใช้จ่าย)

3.รักษาลูกค้า

Design Thinking เป็นกระบวนการที่มีผู้ใช้หรือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จึงช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและการรักษาลูกค้าได้ในระยะยาว

4.รักษาพนักงาน

นอกจากรักษาลูกค้าแล้ว กระบวนการออกแบบหรือการตั้งสมมติฐานต่างๆ เป็นการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือพนักงานภายในองค์กรได้แสดงความเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ โดยไม่มีการตัดสินว่าคววามคิดใดถูกหรือผิด เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมและคิดนวัตกรรมใหม่ๆนอกเหนือจากทีมออกแบบ

5.สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกสายอาชีพ

อย่างที่กล่าวไปว่าไม่ใช่กระบวนการคิดสำหรับนักออกแบบเท่านั้น คุณสามารถใช้ประโยชน์จากการคิดเป็นกลุ่ม และนำไปส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างทีมได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถใช้ได้กับทุกทีมในทุกอุตสาหกรรมอีกด้วย

 

วิธีเริ่มต้น การคิดเชิงออกแบบ

4 วิธีง่ายๆหากคุณอยากเริ่มต้นทำ Design Thinking หรือ การคิดเชิงออกแบบ มีดังนี้

1.รวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยฝึกการเอาใจใส่ การสังเกต และการสัมภาษณ์

การทำความรู้จักลูกค้าของคุณ เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างสินค้าและบริการที่พวกเขาต้องการและมีความจำเป็นกับพวกเขาจริงๆ อย่าพยายามคิดว่า คุณรู้อยู่แล้วว่าพวกเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไร (อย่าคิดไปเอง) การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภค เป็นส่วนสำคัญของการคิดเชิงออกแบบ

 

2.ลองสร้างต้นแบบคร่าวๆ

เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองให้เห็นภาพมากขึ้น อาจทำการสร้างต้นแบบ (Prototype) คร่าวๆด้วยปากกากับกระดาษ หรืออะไรก็ได้ที่คุณสะดวกและหาได้ง่าย เพื่อจำลองแนวคิดและฟังคำติชมที่จะช่วยให้คุณเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นก่อนที่จะเริ่มลงทุนการผลิต

 

3. เปลี่ยนปัญหาให้เป็นคำถาม

เมื่อเกิดปัญหาให้หาทางแก้ไขทันที พยายามเปลี่ยนแนวคิดของคุณและถามคำถามกับปัญาที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางปรับปรุง แก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้นอยู่เสมอ อาจทำให้คุณพบจุดที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างแท้จริงเร็วขึ้นก็ได้

เช่น บริษัทหนึ่งมีปัญหาเรื่องการรักษาจำนวนพนักงาน แทนที่จะมุ่งเน้นแต่เรื่องการปรับปรุงอัตราการรักษาพนักงานไว้ พวกเขาได้ตั้งคำถามกับปัญหานี้ว่า องค์กรเราจะสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีขึ้นของพนักงานได้อย่างไร? การให้ความสำคัญกับความต้องการที่แท้จริงของพนักงานนี้ ทำให้องค์กรค้นพบข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่ดีขึ้นได้

 

4.วิจัยค้นคว้าทำความเข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

โดยทั่วไปประเภทของการวิจัยที่คุณสามารถทำได้ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • การวิจัยทั่วไป
  • การวิจัยเชิงประเมิน
  • การวิจัยเชิงตรวจสอบความถูกต้อง

การวิจัยทั่วไป จะช่วยระบุโอกาสใหม่ๆ และเป็นการสำรวจความต้องการต่างๆ ส่วนการวิจัยเชิงประเมิน จะรวบรวมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทดลองและช่วยให้คุณนำไปทำซ้ำต่อได้ในภายหน้า ซึ่งการวิจัยทั้งสองประเภทนี้มุ่งเน้นไปที่อนาคตและแนวคิดใหม่ๆ ในขณะที่การวิจัยเชิงตรวจสอบความถูกต้องซึ่งเป็นการวิจัยตลาดแบบดั้งเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น

ดังนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเลือกใช้การวิจัยวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น ให้ลองปรับสมดุลแนวทางการวิจัยของคุณเพื่อมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

สรุป

Design Thinking คือ กระบวนการคิดแบบหนึ่งที่ช่วยในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ใช้หรือลูกค้า นำไปสู่การออกแบบสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง ๆ และไม่ว่าคุณจะสร้างวัฒนธรรม Design Thinking ในระดับองค์กร หรือเพียงแค่นำไปใช้เพื่อปรับปรุงแนวทางการออกแบบสินค้าหรือบริการ การคิดเชิงออกแบบนี้ สามารถเข้าถึงหัวใจความต้องการของผู้ใช้ และค้นหาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน

 

  • หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
  • ข้อมูลอ้างอิง : 1 / 2 /  3 / 4 / 5 / 6

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Copyright © 2024 สงวนสิทธิ์ทุกประการ Good Material.asia