HR หรือ Human Resource คือ แผนกหนึ่งขององค์กรธุรกิจที่มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาว CEO ส่วนใหญ่กว่า 70% เชื่อว่าพนักงานเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในความสำเร็จขององค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรจะกำหนดวิธีการที่เหมาะสมกับพนักงานแตกต่างกันออกไป เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจและตอบสนองต่อลูกค้าด้วยเช่นกัน ซึ่ง HR คือ แผนกที่รับหน้าที่ในการดำเนินการค้นหา คัดกรอง สรรหา และฝึกอบรมบุคคลเหล่านั้นภายใต้แนวปฏิบัติที่ Goodmaterial จะมาอธิบายกันในบทความนี้ครับ
HR : Human Resource คือ
John R. Commons นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “Human Resource” ไว้ในหนังสือ “The Distribution of Wealth” ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2436
Human Resource คือ ทรัพยากรบุคคล แผนกหนึ่งขององค์กรธุรกิจ มีหน้าที่ในการค้นหา คัดกรอง สรรหา และฝึกอบรมผู้สมัครงาน ตลอดจนการบริหารค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ต่าง ๆของพนักงานในองค์กร เป็นอีกแผนกที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์กรจัดการกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จัดการกับความต้องการของพนักงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับพวกเขา ไปจนถึงการจัดการเรื่องความเข้าใจผิดระหว่างพนักงานและนายจ้างด้วย หรืออาจมองได้ว่าแผนกทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่ปกป้ององค์กรจากปัญหาใด ๆที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานในองค์กร ซึ่งการมีแผนกทรัพยากรบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจไม่ว่าองค์กรนั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
7 แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ Human Resource คือ
เคยมีการวิจัยผลกระทบของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอาจส่งผลต่อความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาว Human Resource คือ แผนกที่จะเข้ามาดูแลปัญหาในด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง 7 แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับ Human Resource นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้อย่างแน่นอน โดยการเพิ่มมูลค่านโยบายทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งหมายความว่าHRควรให้ความสำคัญกับทั้งความต้องการขององค์กรและความต้องการของพนักงานด้วย
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด 7 ประการนี้ จะเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลซึ่งครอบคลุมทุกด้านสำหรับ Human Resource คือ ตั้งแต่การจ้างงาน การฝึกอบรม ไปจนถึงการเสนอความมั่นคงในงาน และการสร้างวัฒนธรรมแบบเปิดที่ผู้คนในองค์กรสามารถแบ่งปันความรู้และความคิดร่วมกันได้
1.การให้ความปลอดภัยแก่พนักงาน
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับทรัพยากรบุคคลประการแรกคือ ความมั่นคงในการจ้างงาน สิ่งนี้ถือเป็นการให้ความปลอดภัยแก่พนักงานอย่างหนึ่ง การมีนายจ้างที่ช่วยให้ลูกจ้างสามารถหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคงเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งที่คนมาทำงาน ความมั่นคงในการจ้างงานอาจดูได้จากสัญญาจ้างงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆตามระยะเวลาจ้าง คือ สัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา อย่างเช่นสัญญาจ้างรายปี สัญญาจ้างชั่วคราว กับอีกประเภทคือ สัญญาจ้างแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา หรืออาจเรียกว่าพนักงานประจำ แน่นอนว่าสัญญาจ้างประเภทที่สองดูมีความปลอดภัยมากกว่า แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรหรือมีการเลิกจ้างงานเกิดขึ้น พนักงานทุกประเภทมักจะเริ่มรู้สึกกังวลหรือเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในหน้าที่การงานของตัวเอง
การให้ความปลอดภัยในการจ้างงานเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเป็นอย่างมาก นอกจากช่วยรักษาคนไว้ได้แล้วยังช่วยประหยัดต้นทุนในการปลดพนักงานออก ต้นทุนในการคัดเลือก ฝึกอบรม และพัฒนาพนักงานใหม่ ซึ่งต่างก็เป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นองค์กรและ HR ควรดำเนินการเพื่อรักษาคนขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด
2.การเลือกจ้างคนที่เหมาะสม
องค์กรหรือ HR ไม่ควรคิดว่าจ้างใครก็ได้ไม่ว่าจะในตำแหน่งหน้าที่ใดก็ตาม การนำคนที่เหมาะสมเข้ามาในองค์กรเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน คุณต้องพยายามหาคนที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆให้มากที่สุด หลายองค์กรพยายามอย่างเต็มที่ในการจ้างบุคคลที่มีความโดดเด่น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของคุณได้ โดยคุณต้องจัดลำดับความสำคัญของการสร้างกระบวนการคัดเลือกการจ้างงานที่ชัดเจนและมีความเป็นธรรม
เครื่องมือในการคัดเลือกการจ้างงานที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่ การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง, การทดสอบ IQ, การประเมินบุคลิกภาพ, การทดสอบการทำงาน, การประเมินเพื่อนร่วมงาน และการตรวจสอบหลักฐานการสมัครงาน การประเมินก่อนการจ้างงานเหล่านี้ใช้เพื่อเปิดเผยลักษณะสำคัญ 3 ประการของผู้สมัคร คือ
- ความสามารถ : บุคคลนี้สามารถทำงานตำแหน่งนี้ได้หรือไม่? บุคคลนี้มีทักษะทางเทคนิคและทักษะที่เหมาะสมหรือไม่?
- ฝึกฝนได้ : สามารถฝึกบุคคลนี้ให้พัฒนาทักษะของเขาได้หรือไม่? บุคคลนี้สามารถเรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้หรือไม่?
- ความมุ่งมั่น : บุคคลนี้จะทุ่มเทให้กับงานของเขาและทุ่มเทเพื่อองค์กรได้หรือไม่? เราจะสามารถรักษาบุคคลนี้ไว้ได้หรือไม่เมื่อเขามีความพร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่แล้ว?
3.ประสิทธิภาพของการทำงานเป็นทีม
การมีทีมที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกองค์กรในการประสบความสำเร็จ ทุกคนรู้ดีว่าการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้ เพราะทีมมักประกอบด้วยคนที่มีความคิดแตกต่างกันแต่กำลังทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันร่วมกัน ซึ่งหมายความว่าความคิดต่าง ๆจะถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายเดียวกันทั้งสิ้น จากนั้นความคิดเหล่านี้จะถูกประมวลผลและคัดเลือกความคิดที่ดีที่สุดออกมานั่นเอง
การสร้างและดูแลทีมที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบหลักของ HR การสนับสนุนการทำงานเป็นทีมโดยการมีส่วนร่วมในการจัดการทีม สามารถทำได้หลายวิธี อย่างเช่น การวัดประสิทธิภาพของทีม การให้รางวัลแก่ทีมที่มีประสิทธิภาพ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคและเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานเป็นทีม และการประเมินบุคลิกภาพส่วนบุคคลยังช่วยให้เข้าใจว่าสมาชิกในทีมคนอื่นคิดและปฏิบัติตนอย่างไร เป็นต้น
4.ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามผลงาน
หากคุณจ้างบุคคลที่มีความเหมาะสมและมีความโดดเด่น คุณก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ย เพราะบุคคลเหล่านี้คือคนที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของคุณได้มากที่สุด ดังนั้นคุณจำเป็นต้องรักษาพวกเขาไว้และจ่ายค่าตอบแทนอย่างยุติธรรมตามความสามารถของพวกเขาด้วย อีกทั้งองค์กรยังต้องติดตามแนวโน้มของตลาดในสาขาของคุณและสาขาใกล้เคียง เพราะพนักงานที่ดีที่สุดอาจมาจากสาขาอาชีพอื่นก็ได้ จากนั้นคุณจะรู้อัตราค่าจ้างโดยเฉลี่ยและรู้ว่าองค์กรของคุณอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ของตลาดเพื่อการกำหนดหรือเสนออัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
การเชื่อมโยงระหว่างผลการปฏิบัติงานกับการให้รางวัลส่วนบุคคล พนักงานจะได้รับแรงจูงใจเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ในการปฏิบัติงานอย่างสูงสุด นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าขององค์กรให้กับพนักงานได้อีกด้วย อย่างเช่นการแบ่งปันผลกำไรในการเป็นเจ้าของร่วมกันหรือหุ้น ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความมุ่งมั่นและรักษาศักยภาพของพนักงานในระยะยาวต่อวิสัยทัศน์ขององค์กร (การเป็นเจ้าของร่วมกันนี้มักมีไว้สำหรับพนักงานบางประเภทเท่านั้น)
5.การฝึกอบรมทักษะที่เกี่ยวข้อง
องค์กรต่าง ๆควรลงทุนอย่างมากทั้งด้านเวลาและงบประมาณเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาทักษะของพนักงาน หลังจากคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาทำงานในองค์กรแล้ว คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขายังคงเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมอยู่ เพราะในปัจจุบันอัตราการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่าง ๆเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจึงเป็นวิธีรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันไว้ หลายองค์กรลงทุนในรูปแบบการฝึกอบรมเฉพาะทักษะมากขึ้น และนอกเหนือจากการเรียนรู้อย่างเป็นทางการในลักษณะนี้แล้ว การเรียนรู้จากงานยังมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันอย่างกฎพัฒนาการเรียนรู้ 70 | 20 | 10 ที่มักถูกยกมาเป็นแนวทางการเรียนรู้ของแต่ละองค์กร
- 70% ของการเรียนรู้มาจากการได้รับมอบหมายงานที่ท้าทาย (เรียนรู้ด้วยตัวเอง)
- 20% ของการเรียนรู้มาจากการเรียนรู้จากผู้อื่น หรือเพื่อนร่วมงาน
- 10% ของการเรียนรู้มาจากการเรียน การสอน และการฝึกอบรม
6.การสร้างองค์กรที่มีความเท่าเทียมกัน
แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของหลักการบริหารทรัพยากรบุคคลนี้ มีรากฐานมาจากแนวปฏิบัติที่เท่าเทียมกันของการบริหารแบบญี่ปุ่น แม้ว่าคุณอาจจะรู้สึกว่าพนักงานบางคนมีความสำคัญมากกว่าต่อความสำเร็จขององค์กร แต่คุณก็ไม่ควรสื่อสารในลักษณะที่ดูไม่เป็นธรรมหรือทำให้พนักงานคนอื่นรู้สึกถึงการเลือกปฏิบัติ เพราะพนักงานทุกคนเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าขององค์กรและควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น
ในองค์กรของญี่ปุ่นมักจะแสดงออกถึงความเท่าเทียมกันในลักษณะของ โรงอาหารกลาง, ชุดเครื่องแบบของบริษัท, สิทธิเรื่องการเจ็บป่วย และสิทธิในวันหยุด เป็นต้น วัฒนธรรมที่เท่าเทียมกันดังกล่าวนี้จะแสดงให้เห็นว่าทุกคนสมควรได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน
7.การแบ่งปันข้อมูลภายในองค์กร
การส่งสารให้ถึงผู้รับสารจริง ๆเป็นเรื่องที่หลายองค์กรมักจะพลาดไป คุณจะต้องรู้ก่อนว่าจะส่งสารไปยังที่ใด ถึงจะรู้ได้ว่าจะสามารถติดตามผลของมันได้อย่างไร การแบ่งปันข้อมูลหรือการกระจายข้อมูลภายในองค์กรก็มีความสำคัญ การบอกให้พนักงานรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับองค์กรด้วยนั้น มีความสำคัญต่อการสำรวจทัศนคติ การได้มีส่วนร่วม และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซึ่งมีผลต่อชีวิตการทำงานของพวกเขา และนี่คือ 2 เหตุผลหลักที่การแบ่งปันข้อมูลมีความสำคัญ คือ
- การสื่อสารแบบเปิดกว้างเกี่ยวกับกลยุทธ์การเงินและการดำเนินงานขององค์กร จะสร้างวัฒนธรรมให้ผู้คนในองค์กรต่างรู้สึกว่าพวกเขาได้รับความไว้วางใจ รู้สึกมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอย่างแท้จริง ซึ่งช่วยลดการพูดคุยในเชิงลบของพวกเขาได้
- และหากต้องการให้คนในองค์กรแบ่งปันความคิดของพวกเขา คุณจำเป็นต้องทำให้พวกเขามีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจนั้นด้วย
Google เป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่มีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการสร้างความสัมพันธ์กับพนักงานผ่านแผนกทรัพยากรบุคคล Google มีสิทธิประโยชน์มากมายสำหรับพนักงาน และสำนักงานใหญ่ของบริษัทยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงาน รวมถึงศูนย์สุขภาพ ลานโรลเลอร์ฮอกกี้ และลานกิจกรรมอีกมากมาย สำหรับ Google พนักงานที่มีความสุขเท่ากับพนักงานที่มีประสิทธิผล
การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ คืออะไร?
องค์กรควรให้ความสำคัญมากขึ้นในการสร้างโครงสร้างองค์กรที่ดี ซึ่งจูงใจพนักงานและส่งเสริมการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้บริหารและพนักงาน การจัดการและการวางแผนที่มีประสิทธิภาพสำหรับทรัพยากรมนุษย์ ช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของพนักงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ เป็นกระบวนการที่มีระบบและเชิงกลยุทธ์ มุ่งประเมินสถานะปัจจุบันของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรเพื่อคาดการณ์ความต้องการกำลังคนในอนาคต ช่วยให้องค์กรสรรหา รักษา และเพิ่มประสิทธิภาพการปรับใช้คนที่ต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจทั้งเชิงกลยุทธ์ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดและสภาพแวดล้อมทั่วไป ดังนั้น การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ต้องเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องโดยมีโครงสร้างและระบบการตรวจสอบที่ช่วยให้องค์กรสามารถจัดหาเวลาที่เพียงพอสำหรับการสรรหาและฝึกอบรมพนักงาน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในอนาคตขององค์กร
วิธี การวางแผนทรัพยากรมนุษย์
ในขณะที่การคาดการณ์ความต้องการกำลังคนเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ก็ยังต้องการมุมมองที่ครอบคลุมและลึกลงไปอีกเกี่ยวกับองค์กรของตน และทำความเข้าใจในปัจจัยหลายประการเพื่อนำไปจัดทำแผน นี่คือขั้นตอนสำคัญ 7 ขั้นตอนในกระบวนการวางแผนทรัพยากรมนุษย์
- ขั้นตอนที่ 1 : วิเคราะห์วัตถุประสงค์ขององค์กรคุณ
- ขั้นตอนที่ 2 : จัดทำคลังทรัพยากรบุคคลในปัจจุบัน (ประเมินพนักงานปัจจุบันของคุณ)
- ขั้นตอนที่ 3 : คาดการณ์ความต้องการของ HR
- ขั้นตอนที่ 4 : กำหนดจำนวนและขอบเขตของทักษะที่ยังขาด
- ขั้นตอนที่ 5 : จัดทำแผนปฏิบัติการ
- ขั้นตอนที่ 6 : บูรณาการและดำเนินการตามแผน
- ขั้นตอนที่ 7 : การตรวจสอบ การวัดผล และข้อเสนอแนะ
4 ขั้นตอนในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์
กระบวนการวางแผนทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการที่องค์กรกำหนดวิธีการจัดหาพนักงานอย่างเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจและลูกค้า แม้จะมีความต้องการที่ชัดเจนแต่หลายองค์กรกลับยังไม่มีกระบวนการวางแผนทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ โดยเกือบหนึ่งในสามของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์กล่าวว่า แผนกของตนจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการจัดการแนวกลยุทธ์ และนี่คือ 4 ขั้นตอนเพื่อการพัฒนา การวางแผนทรัพยากรมนุษย์
1.ประเมินความสามารถในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน
ขั้นตอนแรกในกระบวนการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ คือ การประเมินพนักงานปัจจุบันของคุณ ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆเพื่อจ้างพนักงานใหม่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจความสามารถที่องค์กรของคุณมีอยู่แล้วสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ขอให้พนักงานประเมินตนเองด้วยแบบสอบถาม ดูคำวิจารณ์การทำงานที่ผ่านมา หรือใช้ทั้งสองวิธีการร่วมกัน
2.คาดการณ์ความต้องการทรัพยากรมนุษย์
การคาดการณ์ความต้องการทรัพยากรมนุษย์ เป็นกระบวนการที่ละเอียดในการกำหนดความต้องการทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต ในแง่ของจำนวนพนักงานที่ต้องการกับความสามารถของคนเก่งที่จำเป็น เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต คำถามเพื่อการคาดการณ์อย่างเช่น
- องค์กรของคุณจำเป็นต้องเพิ่มทรัพยากรมนุษย์หรือไม่?
- ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ด้วยการฝึกอบรมทักษะใหม่ ๆหรือไม่?
- มีพนักงานที่มีศักยภาพในตลาดหรือไม่?
โดยคุณต้องจัดการอุปสงค์และอุปทานระหว่างองค์กรกับพนักงานอย่างระมัดระวังด้วย เพื่อจะได้พัฒนาแผนเชื่อมโยงความต้องการของพนักงานที่มีคุณภาพในองค์กรของคุณกับอุปทานที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งคุณสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้โดยการฝึกอบรมพนักงานปัจจุบัน จ้างพนักงานใหม่ หรือรวมสองแนวทางเข้าด้วยกัน
3.พัฒนากลยุทธ์ความสามารถ
การพัฒนาความสามารถเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ เริ่มตั้งแต่ HR ค้นหาผู้สมัครให้ตรงกับทักษะที่องค์กรต้องการ หากคุณได้คาดการณ์อุปสงค์และอุปทานอย่างถูกต้อง คุณจะไม่มีปัญหาในการเลือกคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่องค์กรต้องการ หลังจากจ้างพนักงานใหม่ได้แล้วให้จัดการฝึกอบรมพร้อมเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานภายในองค์กรเพื่อความรวดเร็ว และกระตุ้นให้พวกเขาพัฒนาทักษะต่อไปให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กร
และเพื่อเป็นการพัฒนาความสามารถ ควรทำการวิจารณ์การปฏิบัติงาน (Performance Reviews) อย่างสม่ำเสมอสำหรับพนักงานทุกคน ระบุความสำเร็จและสิ่งที่ต้องการปรับปรุงเพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีเป้าหมายหรือเพื่อผลงานที่ดียิ่งขึ้น
4.ทบทวนและประเมิน
เมื่อแผนกระบวนการจัดการทรัพยากรมนุษย์ของคุณได้เริ่มขึ้นแล้ว คุณสามารถประเมินได้ว่าแผนดังกล่าวช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายในปัจจัยต่างๆหรือไม่ เช่น การผลิตผลกำไร การรักษาพนักงาน และความพึงพอใจของพนักงาน หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นให้ดำเนินการตามแผนต่อไป แต่หากมีข้อติดขัดใดเกิดขึ้นระหว่างทางคุณสามารถปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้เหมาะกับความต้องการของ องค์กรตามความเหมาะสม
สรุป
หากคุณคิดจะพัฒนากระบวนการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ให้กับองค์กรของคุณ บทความนี้ได้อธิบายไปแล้วว่ากระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับอะไร และคุณสามารถจัดทำแผนกลยุทธ์ของคุณได้อย่างไร เพื่อนำไปพัฒนาแผนก HR และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์กรต่อไป และมีความมั่นใจได้ว่าองค์กรจะมีพนักงานเพียงพอเพื่อการดำเนินงานตามเป้าหมายขององค์กร และมีพนักงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งในเวลาที่เหมาะสมเช่นกัน
- หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
- ข้อมูลอ้างอิง : 1 / 2 / 3 / 4
Copyright © Goodmaterial.asia