ธุรกิจที่ดีจะทำการวิเคราะห์ตนเองเป็นครั้งคราว รวมทั้งตั้งคำถามถึง “ความสำเร็จ หรือ ความก้าวหน้าขององค์กร” แต่หากไม่มีหลักเกณฑ์ชี้วัด ปราศจากมาตรฐานที่ชัดเจน การวิเคราะห์ตนเองคงไร้ความหมาย Key Performance Indicators (KPI) คือ เครื่องมือที่ช่วยคุณชี้วัดความก้าวหน้าขององค์กร เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ ในบทความนี้ Good Material จะมาเล่าถึง การนำ KPI ไปใช้ในองค์กรโดยละเอียด รวมถึง การตั้งเป้าหมายที่ดี ที่จะช่วยให้คุณมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้นครับ
Key Performance Indicators คือ
KPI : Key Performance Indicators คือ ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพหลัก หรือ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ เป็นค่าที่จะแสดงให้เห็นว่า บริษัท บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่สำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด แต่ละองค์กรจะใช้ KPI ในหลายระดับเพื่อประเมินความสำเร็จ การบรรลุเป้าหมาย KPI ในผู้บริหารระดับสูง อาจมุ่งเน้นไปที่ผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจ ขณะที่ KPI ระดับปฎิบัติงานอาจเน้นที่กระบวนการต่างๆ เช่น การเพิ่มผลผลิตของเครื่องจักร (ฝ่ายผลิต) การเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดระยะเวลาการซ่อมบำรุงเครื่องจักร (ฝ่ายซ่อมบำรุง) ยอดขายที่เพิ่มขึ้น (ฝ่ายขายและการตลาด) และอื่นๆอีกมากมาย
- Key : แก่น หรือ หัวใจหลัก
- Performance : ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ ผลของการกระทำ
- Indicators : ตัวชี้วัด หรือ ดรรชนี
คำจำกัดความของ KPI คืออะไร และหมายถึงอะไร ?
- ความหมายตามพจนานุกรม Oxford KPI คือ : “A quantifiable measure used to evaluate the success of an organization, employee, etc. in meeting objectives for performance.”
- ความหมายของ KPI สำหรับ Investopedia : “A set of quantifiable measures that a company uses to gauge its performance over time.”
ประโยชน์ของการใช้ Key Performance Indicators คือ
- เป็นตัวกำหนดมาตรฐานของการทำงาน ของแต่ละทีม และแต่ละบุคคล
- ช่วยให้บุคคลและทีมงาน ทราบว่าตนเองจะต้องทำงานให้เกิดผลเพื่อวัตถุประสงค์ใด
- ทำให้การวัดผลสำเร็จในการทำงาน มีความหลากหลายและครอบคลุม
- สามารถตรวจสอบการทำงานได้ตลอดเวลา
- สามารถนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงและแก้ไขได้ทันที
- KPI ช่วยเป็นจุดอ้างอิงระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคต
การกำหนด KPI
การกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จอาจเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก ในการเริ่มทำ KPI คำหลักที่ใช้สำหรับดำเนินการคือคำว่า “Key ” เนื่องจาก KPI ทุกตัวที่กำหนดขึ้นมา ควรเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ทางธุรกิจ โดยคำว่า Key คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณกำหนดได้อย่างเฉพาะเจาะจง
การกำหนด KPI ต้องกำหนดตามวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่สำคัญหรือวัตถุประสงค์หลัก อาจเริ่มจากการตั้งคำถามเหล่านี้เพื่อช่วยในการกำหนด KPI :
- ผลลัพธ์ที่คุณต้องการคืออะไร
- เหตุใดผลลัพธ์นี้ถึงสำคัญ
- คุณจะวัดความก้าวหน้าได้อย่างไร
- คุณและทีมจะมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ได้อย่างไร
- ใครเป็นผู้รับผิดชอบผลลัพธ์ทางธุรกิจ
- คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบรรลุผลสำเร็จแล้ว
- คุณจะตรวจสอบความคืบหน้าของผลลัพธ์บ่อยแค่ไหน
ตัวอย่าง : สมมติว่าวัตถุประสงค์ของคุณคือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากเครื่องจักรที่มี สมมตติว่า ณ ตอนนี้เครื่องจักรมี OEE 60% นี่คือวิธีที่คุณสามารถกำหนด KPI :
- เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของเครื่องจักร (OEE) +20% เป็น OEE 80%
- การบรรลุเป้าหมายนี้จะทำให้ ธุรกิจมีกำไรเพิ่ม จากจำนวนสินค้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้น
- ความคืบหน้าวัดจาก ระยะเวลาการเดินเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นวัดเป็นจำนวนชั่วโมง และ OEE %
- โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลเครื่องจักรของฝ่ายซ่อมบำรุง คู่กับการ บำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
- ผู้จัดการโรงงาน และผู้จัดการฝ่ายซ่อมบำรุง เป็นผู้รับผิดชอบ
- ประสิทธิผลการผลิตของเครื่องจักรเพิ่มขึ้น 20%
- จะมีการตรวจสอบเป็นประจำทุก 2 สัปดาห์
ขั้นตอนการปรับใช้ Key Performance Indicators ในองค์กร
หากคุณอยากนำ KPI ไปปรับใช้ในองค์แต่มีคำถามว่าแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อ โดยเฉพาะผู้จัดการมือใหม่ สำหรับการใช้งาน KPI ในหัวข้อนี้เราขอแนะนำ 5 ขั้นตอน ในการนำ KPI ไปใช้ :
ขั้นตอนที่ 1 – ระบุขอบเขตของผลการดำเนินงานทางธุรกิจที่คุณต้องการวัด
KPI โดยทั่วไปจะสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจและอาจใช้ในการวัดผลด้านต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพ การเงิน การเติบโต และอื่นๆอีกมากมาย ในการระบุขอบเขตเราได้เขียนขยายความในหัวข้อ ชนิดของ Key Performance Indicators ในหัวข้อถัดไป โดยมี ตัวอย่างผลการดำเนินงานที่ต้องการวัด มีดังนี้ :
- ดัชนีชี้วัดเชิงปริมาณ : Quantitative Indicators
- ดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพ : Qualitative Indicators
- ดัชนีชี้วัดการเป็นผู้นำ : Leading Indicators
- ดัชนีบ่งชี้กระบวนการ : Process Indicators
- ดัชนีชี้วัดอินพุต: Input Indicators
- ดัชนีชี้วัดผลลัพธ์ : Output Indicators
- ดัชนีชี้วัดทางการเงิน : Financial Indicators
ขั้นตอนที่ 2 – กำหนดเป้าหมายที่จะวัดประสิทธิภาพ
การกำหนดเป้าหมายที่คุณจะวัดประสิทธิภาพนั้น อย่าลืมกลับไปมองที่วัตถุประสงค์ขององค์กรและเปรียบเทียบประสิทธิภาพของธุรกิจ โดยเป้าหมายที่คุณตั้งควรมีความเฉพาะเจาะจง หนึ่งในเครื่องมือตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพคือ SMART โดยผมได้อธิบายความหมายของ SMART ไว้ในหัวข้อถัดๆไปครับ
SMART KPI ประกอบด้วย
- Specific : มีความชัดเจน เฉพาะเจาะจงหรือไม่คลุมเครือ
- Measurable : คุณสามารถวัดความก้าวหน้าที่นำไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่
- Achievable : สามารถบรรลุผลได้ ไม่เฟ้อฝันเกินไปใช่หรือไม่
- Realistic : สามารถปฎิบัติได้จริง มีความสมเหตุสมผล ใช่หรือไม่
- Time : กรอบเวลาเพื่อบรรลุเป้าหมายคือเท่าใด / มีระยะเวลาที่ชัดเจน
ขั้นตอนที่ 3 – เปรียบเทียบประสิทธิภาพปัจจุบันกับเป้าหมายที่กำหนด
การสรุปภาพรวมของสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการประเมินตัวเอง ให้ทำการเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ใน ขั้นตอนที่ 2 หลังจากที่คุณเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับเป้าหมายได้แล้ว คุณจะได้คำตอบว่า ส่วนใดของธุรกิจที่คุณจำเป็นต้องปรับปรุง หรือใช้เครื่องมือวิเคราะห์ปัญหาอย่าง Fishbone Diagram เพื่อช่วยระบุส่วนที่ต้องปรับปรุงในขั้นตอนนี้ได้ครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : Fishbone Diagram คือ เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ แผนภูมิก้างปลา เพื่อหาสาเหตุและผลกระทบ
3 สิ่งที่คุณอาจจะต้องเปรียบเทียบคือ กระบวนการ กลยุทธ์ และประสิทธิภาพ
- กระบวนการ : คุณอาจจะต้องปรับปรุงกิจกรรมภายในองค์กรเพื่อลดความสูญเสีย หรือกระบวนการทำงานที่ไม่เกิดประโยชน์และเสียเวลาออกไป รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆมากยิ่งขึ้น หากคุณอยู่ในธุรกิจการผลิต เป้าหมายของคุณคือการเพิ่มการผลิตสินค้าขึ้น 50% ประสิทธิภาพในการพิจารณาเรื่องกระบวนการจะช่วยได้ถึง 40%
- กลยุทธ์ : การวางแผนธุรกิจและการวางรายละเอียดเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย คุณต้องพิจาณาดูว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปแล้วหรือยังเหมือนเดิม และกลยุทธ์เดิมนั้นยังใช้ได้ดีกับเป้าหมายใหม่นี้หรือไม่ หากคำตอบคือไม่ การคิดกลยุทธ์ใหม่จะช่วยให้คุณดำเนินธุรกิจได้ตรงกับเป้าหมายขององค์กรมากยิ่งขึ้น
- ประสิทธิภาพ : การตรวจวัดประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ ถ้าคุณอยู่ในธุรกิจการผลิต ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้เครื่องจักรจะส่งผลที่มีนัยสำคัญต่อการผลิต ค่า OEE ควรจะสูง หรือถ้าคุณเป็นฝ่ายขาย การวัดประสิทธิภาพการปิดการขายจะเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ คุณต้องหาให้เจอว่าอะไรคือ ประสิทธิภาพที่ส่งผลสำคัญต่อเป้าหมายของคุณ
บทความที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต : TPM : Total Productive Maintenance
ขั้นตอนที่ 4 – ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพล่าสุด
ธุรกิจของคุณจะต้องดำเนินไปในทิศทางที่เป็นบวกอยู่เสมอ การหมั่นทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจขณะปัจจุบันสามารถช่วยได้ คำถามที่สำคัญคือ คุณจะตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพของธุรกิจได้อย่างไร? และนี่คือส่วนหนึ่งที่ควรตรวจสอบ ได้แก่ :
- ตรวจสอบการดำเนินงาน : ก่อนที่คุณจะพูดถึงผลกำไร ผมแนะนำให้ตรวจสอบคุณภาพเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือการบริการของคุณเป็นอันดับแรก เนื่องจากสินค้าและบริการเป็นส่วนที่สำคัญต่อธุรกิจ ในหลักการบริหารคุณภาพโดยรวม หรือ Total Quality Management (TQM) ระบุว่าคุณควรให้ลูกค้าเป็นผู้กำหนดคุณภาพ และพนักงานมีหน้าที่ปรับปรุงคุณภาพสินค้าหรือบริการให้เหนือกว่าความคาดหมายเสมอ
- ประเมินประสิทธิภาพของธุรกิจ : เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น คุณจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างความพยายามในการทำให้ธุรกิจดำเนินไปตามปกติในแง่ของการทำให้ธุรกิจเติบโต กับสมดุลด้านอื่นๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกของธุรกิจ สถานประกอบการ เทคโนโลยี ตลอดจนบุคลากรและทักษะของพนักงาน การเปลี่ยนแปลงด้านประสิทธิภาพของธุรกิจมีเครื่องมือที่ชื่อว่า Balanced Scorecard คือ การวัดผลเชิงดุลยภาพ ที่มีไว้เพื่อค้นหาและพัฒนากระบวนการทำธุรกิจในส่วนต่างๆ ที่ประกอบด้วย 4 มุมมองของธุรกิจ ได้แก่ มุมมองด้านการเงิน , มุมมองด้านลูกค้า, มุมมองด้านกระบวนการภายใน และ มุมมองด้านการเรียนรู้และการเติบโต
ขั้นตอนที่ 5 – กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมระหว่างการทบทวน KPI แต่ละครั้ง
การกำหนดช่วงเวลาในการวัดผลขึ้นอยู่กับ ขั้นตอนที่ 1 การระบุพื้นที่ในการวัดผลการดำเนินงานของธุรกิจ ความถี่ในการทบทวน KPI อาจแตกต่างกัน การวัดประสิทธิภาพที่แม่นยำจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการกำหนดตารางการตรวจสอบเป็นระยะ และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด
โดยส่วนมากกระบวนการตรวจสอบและทบทวน KPI จะมีหลัก ๆ 4 ระยะเวลาด้วยกัน
- การทบทวน KPI รายเดือน
- การทบทวน KPI รายไตรมาส
- การทบทวน KPI รายครึ่งปี
- การทบทวนประจำปี
คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ การทดลอง ไม่มีคำตอบที่บ่งชี้ว่าดีที่สุด ในหลายกรณีการทบทวนปีละครั้งจะทำให้การปรับปรุงกระบวนการล่าช้า ธุรกิจไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลทางลบได้ทันท่วงที แต่ถ้าผลรายเดือนก็จะส่งผลต่อทรัพยากรที่ต้องใช้มากขึ้น รวมถึงยังไม่มีเวลารอดูผลลัพธ์ของแผนการปฎิบัติงานที่ยาวนานพอ
ชนิดของ Key Performance Indicators
การเลือก Key Performance Indicators (KPI) ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวัดประสิทธิผลของการดำเนินการ อย่างไรก็ตามขณะที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ทราบถึงความสำคัญของการเลือก KPI ที่เหมาะสม แต่มักไม่ทราบความแตกต่างระหว่าง KPI ประเภทต่างๆ
การรู้วิธีจัดประเภท KPI จะช่วยให้คุณสามารถขยายเมตริก (Metrics) หรือดัชนีชี้วัดที่เฉพาะเจาะจง และทำให้คุณมองลึกลงไปถึงรายละเอียดของธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เป็นเรื่องง่ายในการระบุขอบเขตการนำ KPI ไปปรับใช้
และนี้คือ Indicators หรือ Metrics ที่นิยมมากที่สุด 7 ประเภท :
1.ดัชนีชี้วัดเชิงปริมาณ : Quantitative Indicators
ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ เป็นดัชนีชี้วัดที่ตรงไปตรงมาที่สุดของ KPI พูดง่ายๆ คือ การวัดจากตัวเลขเท่านั้น ตัวอย่างเช่น จำนวนเวลาหยุดงานของเครื่องจักร จำนวนครั้งที่ซ่อมในแต่ละเดือน จำนวนลูกค้าที่มีในแต่ละเดือน KPI
KPI เชิงปริมาณ เน้นหน่วยการวัดเป็นตัวเลข ได้แก่ วัดเวลา วัดจำนวนเงิน/บาท วัดน้ำหนัก วัดจำนวนครั้ง เป็นต้น
2.ดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพ : Qualitative Indicators
ดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพจะตรงกันข้ามกับการวัดเชิงจำนวน โดยปกติ KPI เขิงคุณภาพเป็นลักษณะของกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ ตัวอย่างของ KPI เชิงคุณภาพ ได้แก่ ความคิดเห็นด้านคุณสมบัติและคุณลักษณะ KPI เชิงคุณภาพที่สามารถเห็นได้ทั่วไปที่ใช้ในองค์กร ได้แก่ แบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน หรือ แบบสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า การวัดผลนั้นขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละบุคคล ในเชิงคำถามว่า “ทำไม”
3.ดัชนีชี้วัดการเป็นผู้นำ : Leading Indicators
ดัชนีชี้วัดความเป็นผู้นำ ใช้เพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการและยืนยันแนวโน้มระยะยาวของข้อมูล ในหลายบริษัทโดยเฉพาะบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยี ใช้ดัชนีความเป็นผู้นำเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเติบโตในอนาคต ตัวอย่างของ Leading Indicators ได้แก่
- จำนวนสิทธิบัตรใหม่
- จำนวนนวัตกรรมใหม่
4.ดัชนีบ่งชี้กระบวนการ : Process Indicators
ดัชนีบ่งชี้กระบวนการ ใช้เพื่อวัดประสิทธิภาพของกระบวนการและอำนวยความสะดวกในการประเมินและการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ดำเนินการปรับปรุงการผลิตด้วย Kaizen มักจะใช้รูปแบบการปรับปรุงกระบวนการด้วย PDCA Cycle ดังนั้นการตั้ง KPI สำหรับวัดผลเพื่อปรับปรุงกระบวนการคือสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างกระบวนการผลิตและการบริการที่ดียิ่งขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : Kaizen คือ ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ ไคเซ็น การใช้งาน หลักการ และประโยชน์
5.ดัชนีชี้วัดอินพุต: Input Indicators
KPI สำหรับวัด Input ใช้เพื่อการวัดทรัพยากรที่คุณใช้ระหว่างกระบวนการทางธุรกิจ ถ้าคุณอยู่ในธุรกิจบริการ ทรัพยากรที่คุณใช้อาจเป็น ระยะเวลาทำงานของพนักงาน หรือ จำนวนอุปกรณ์ สำหรับธุรกิจการผลิตดัชนีอินพุต ได้แก่ จำนวนวัตถุดิบสำหรับการผลิต ค่า KPI เหล่านี้เป็นการติดตามประสิทธิภาพของทรัพยากรในโครงการ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีชิ้นส่วนและอะไหล่จำนวนมาก
- ถ้าคุณสามารถวัดผลได้ว่า Input เข้าเท่าไหร่ถึงจะได่ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ได้ ก็จะสามารถเทียบประสิทธิผลของแต่ละไลน์การผลิต หรือ ธุรกิจของคู่แข่งในด้านต้นทุนได้
6.ดัชนีชี้วัดผลลัพธ์ : Output Indicators
ดัชนีชี้วัดความสำเร็จด้านผลลัพธ์จะสืบเนื่องจาก KPI ในส่วนของอินพุตและส่วนของกระบวนการ การตั้ง KPI เพื่อวัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกระบวนการ สำหรับฝ่ายการผลิต ดัชนีชี้วัดผลลัพธ์อาจจะเป็นจำนวนการผลิตที่เป็นจำนวนชิ้นต่อชั่วโมง หรือต่อวัน สำหรับฝ่ายขาย ตัวอย่างของ KPI ได้แก่ จำนวนยอดขาย ผลกำไร หรือ ลูกค้ารายใหม่
7.ดัชนีชี้วัดทางการเงิน : Financial Indicators
Key Performance Indicators ทางการเงินคือการวัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเติบโต และความสามารถทางธุรกิจ โดย KPI ทางการเงินที่พบบ่อย ได้แก่ อัตรากำไรขั้นต้น กำไรสุทธิ ลูกหนี้การค้า ROI ROE และอัตราส่วนทรัพย์สิน ดัชนีชี้วัดทางการเงินให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบริษัท
ตั้งเป้าหมายแบบ SMART
วิธีหนึ่งในการประเมินความเกี่ยวข้องของดัชนีบ่งชี้ประสิทธิภาพและการตั้งเป้าหมาย คือ การใช้หลักเกณฑ์ที่เรียกว่า SMART
การตั้งเป้าหมายแบบ SMART ได้รวมเอาหลักเกณฑ์ทั้งหมดที่ช่วยให้คุณมุ่งเน้นความพยายาม และเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
1.Specific : เป้าหมายเฉพาะเจาจง
การตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงจะมีโอกาสสำเร็จขึ้นเป็นอย่างมาก ในการเริ่มตั้งเป้าหมายให้เฉพาะเจาะจงควรเริ่มจากคำถาม “5W”
- Who : ใครมีส่วนร่วมกับเป้าหมายนี้
- What : ฉัน/บริษัท ต้องการทำอะไรให้สำเร็จ
- Where : เป้าหมายที่ต้องการบรรลุอยู่ที่ไหน
- When : ฉันต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อไหร่
- Why : ทำไมฉันถึงต้องบรรลุเป้าหมายนี้
ตัวอย่าง : ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ 40% สำหรับไลน์การผลิต B ภายในระยะเวลา 2 เดือน
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5W1H คือ ทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้วย 5W1H
2.Measurable : วัดผลได้
การตั้งเป้าหมายที่ฉลาดสำหรับ Key Performance Indicators ต้องมีเกณฑ์ในการวัดความก้าวหน้า หากไม่มีเกณฑ์คุณจะไม่สามารถระบุความคืบหน้าของคุณได้ และไม่รู้ว่าสถานการณ์ไหน เมื่อไหร่ที่คุณจะบรรลุเป้าหมาย เพื่อให้เป้าหมายสามารถวัดผลได้ ให้ถามว่า
- จำนวน / เท่าไหร่ ?
- จะรู้ได้อย่างไรว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว ?
- ตัวบ่งชี้ความคืบหน้าของฉันคืออะไร ?
ตัวอย่าง : Overall Equipment Effectiveness (OEE): ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร ทำงานได้ 80% หรือ ระยะเวลาการเข้าซ่อมบำรุงหลังได้รับใบแจ้งซ่อมไม่เกิน 1 ชั่วโมง
3.Achievable : บรรลุผลได้
การตั้งเป้าหมายด้วย SMART เป้าหมายที่ตั้งจะต้องลงมือทำได้และสามารถบรรลุผลได้ วิธีการนี้จะช่วยให้คุณคิดหาวิธีที่จะบรรลุเป้าหมายและไปสู่เป้าหมายได้
การตั้งยากเกินไปกว่าทรัพยากรที่มี หรือ ไม่มีความสมเหตุสมผล จะทำให้การตั้งเป้าหมายไม่สามารถบรรลุผลได้ การตั้งเป้าหมายที่ไม่ท้าทายก็จะทำให้ไม่เกิดการพัฒนา ต่อให้บรรลุผลก็ไม่ส่งผลต่อความก้าวหน้า เป้าหมายที่คุณตั้งไว้ต้องพยายามเอื้อมตัวออกไปจากสถานการณ์ปกติเพื่อให้คุณรู้สึกท้าทาย
คุณอาจจะเริ่มจากคำถาม
- ฉันมีทรัพยากรและความสามารถในการบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ? ถ้าไม่ อะไรที่ยังขาด
- มีคนอื่นทำสำเร็จมาก่อนหรือไม่
ตัวอย่าง : สถานการณ์ 3 แบบ
- เป้าหมายที่เป็นไปได้ : สร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 30% จากการหาลูกค้าใหม่ภายในระยะเวลา 1 ปี
- เป้าหมายที่ยากเกินไป : ขยายสาขาเพิ่ม 1,000 แห่งภายใน 1 ปี (แต่เงินทุน และกำลังคนยังไม่เพียงพอ)
- เป้าหมายที่ง่ายเกินไป : ลดต้นทุนให้ได้ 2% ภายในระยะเวลา 1 ปี
4.Realistic : สมเหตุสมผล
การตั้งเป้าหมายที่ดีต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้
- เป้าหมายที่ตั้งเป็นไปได้ หรือ ใกล้แค่เอื้อมหรือไม่
- เป้าหมายนี้บรรลุได้ เพียงต้องใช้ทรัพยากรและเวลาที่มีใช่หรือไม่
- คุณสามารถมุ่งมั่นจนถึงเป้าหมายได้ใช่หรือไม่
5.Time : มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
เป้าหมายที่ดีต้องกำหนดระยะเวลาโดยมีวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุด หากเป้าหมายไม่ถูกจำกัดเวลาก็ไม่มีความรู้สึกเร่งด่วน ดังนั้นจึงไม่มีแรงจูงใจในการปฎิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
- เป้าหมายของฉันมีกำหนดเวลาหรือไม่
- ต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อไหร่
ตัวอย่าง : ฉันจะต้องปรับปรุงคุณภาพการผลิตและองค์กร เพื่อให้ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 ภายในระยะเวลา 1 ปี (กำหนดเดือนหรือวันที่)
สรุป
Key Performance Indicators (KPI) คือ ตัวบ่งชี้ที่สำคัญในการประเมินผลการดำเนินงานของบริษัท สิ่งสำคัญคือ คุณต้องเลือก KPI ในการวัดผลที่เหมาะสม เริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักขององค์กร มีความเฉพาะเจาะตามหลัก SMART และตรรวจสอบ KPI เป็นประจำ
- หากท่านต้องการนำเนื้อหาหรือข้อมูลจากเว็ปเราไปใช้งานเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้โดยไม่มีผลประโยชน์ โปรดติดลิ้งค์เครดิตกลับมาหาเราที่หน้านี้
- ข้อมูลอ้างอิง 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6